ประโยชน์ของ ฟักทอง

ประโยชน์ของ ฟักทอง

เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับฟักทองมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อคุณแม่ทำอาหารจากฟักทองให้ทานกันอยู่บ่อย ๆ จน

กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ฟักทองก็ยังคงเป็นส่วนประกอบของอาหารรสชาติอร่อยที่วนเวียนในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ทั้งเมนูอาหารคาวและหวาน การรับประทานฟักทองนอกจากจะได้รสชาติที่อร่อยหวานมันแล้ว ยังได้ประโยชน์จากวิตามินและแร่ธาตุอีกมากมายที่อยู่ในฟักทอง 

วิตามินและแร่ธาตุในฟักทองมีอะไรบ้าง

วิตามินและแร่ธาตุที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ไม่ได้แค่มีอยู่ในเนื้อฟักทองเท่านั้น แต่ยังพบว่าสารอาหารทั้งหลายมีอยู่ในเปลือก ใบ เมล็ด และดอก สารอาหารที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของฟักทองก็คือ เบตาแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ และในฟักทองจะมีวิตามินเออยู่มากที่สุด ตามด้วยวิตามินบีรวม 6 ชนิด วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค ยิ่งไปกว่านั้นคือมีฟอสฟอรัส แคลเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส ธาตุเหล็ก ซิงค์ และสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย

คุณประโยชน์จากสารอาหารในฟักทอง

  • ประโยชน์ข้อแรกก็คือ สารเบตาแคโรทีนได้ชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติในการรักษาสุขภาพและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคผิวหนังได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง และยังพบว่าฟักทองมีกรดโปรไบโอนิค ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลงได้
  • ฟักทองมีไฟเบอร์สูง แคลอรี่และไขมันต่ำ ทานแล้วอิ่มนานจึงไม่ทำให้อ้วน และยังมีประโยชน์ในการควบคุมน้ำหนักได้ดีอีกด้วย
  • สารอาหารในฟักทองช่วยป้องกันโรคเบาหวาน นักวิจัยชาวจีนได้ทำการทดลองพบว่า ในเนื้อฟักทองมีน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และเพิ่มปริมาณอินซูลินที่ร่างกายผลิตเองได้
  • ลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ และอาการผิดปกติของร่างกายได้หลายอย่าง มีงานวิจัยพบว่าน้ำมันในเมล็ดฟักทองช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโต ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ป้องกันอาการปวดข้อ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทานของกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

รับประทานฟักทองอย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ประโยชน์ของฟักทองมีมากมาย แต่การที่จะได้ประโยชน์เหล่านั้นอย่างเต็มที่ ต้องรู้จักวิธีรับประทานฟักทองให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีที่สุด นั่นก็คือ 

  • การใช้ความร้อนทำให้ฟักทองสุกจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น แต่การใช้ความร้อนควรทำในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
  • สารเบต้าแคโรทีนที่อยู่ในฟักทอง จะละลายและร่างกายดูดซึมได้ดีเมื่ออยู่ในไขมัน ในการประกอบอาหารจึงควรใช้น้ำมันร่วมด้วย แต่ให้เลือกน้ำมันที่คุณภาพดี เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ปราศจากคอเลสเตอรอล
  • เลี่ยงเมนูอาหารที่เป็นขนมหวาน เช่น ฟักทองแกงบวด ฟักทองสังขยา แต่ให้เลือกเป็นเมนูง่าย ๆ อย่างฟักทองต้ม นึ่ง ซุปฟักทอง หรือปั่นรวมกับผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ 
  • ไม่รับประทานฟักทองมากเกินไป อาจกระตุ้นให้ร่างกายร้อนขึ้นได้ เพราะฟักทองมีฤทธิ์อุ่น จะทำให้ร้อนใน กระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และแทนที่จะช่วยการขับถ่ายจากไฟเบอร์ อาจกลายเป็นอาการท้องผูกขึ้นมาแทนได้

ผัก-ผลไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ แต่ก็ควรรับประทานให้เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป การได้รับสารอาหารอย่างสมดุลจะช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล การทำงานของระบบต่าง ๆ ก็จะไม่ผิดเพี้ยนและไม่เกิดโรคตามมา จึงจะเป็นการรับประทานผัก-ผลไม้ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง