อาการภาวะไตอ่อนแอ

อาการภาวะไตอ่อนแอ

หากพูดถึง “โรคไต” เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยต้องนึกถึงโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ทั้งที่จริงแล้วเป็นโรคที่

เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ทารกในครรภ์ที่อาจมีภาวะโรคไตจากกรรมพันธุ์หรือมีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด โดยโรคไตเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ที่น่ากังวลสำหรับทารก คือ ภาวะไตอ่อนแอ หรือการที่ไตเสื่อมสภาพลง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การขับของเสียในร่างกายลูกน้อยจึงด้อยลงตามไปด้วย 

สาเหตุการเกิดภาวะไตอ่อนแอ

ภาวะไตอ่อนแอเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กเล็กและเด็กโต เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และยังไม่เหมือนโรคไตในผู้ใหญ่ โดยสาเหตุโรคไตของเด็กมีดังนี้

  • สาเหตุในเด็กเล็ก

ส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคทางพันธุกรรม ภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และความผิดปกติโครงสร้างไตที่มีมาแต่กำเนิด

  • สาเหตุในเด็กโต

มีโอกาสเกิดได้จากภาวะไตอักเสบ การเป็นโรค SLE (โรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเยื่อตนเอง) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดจากการขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ การทานอาหาร เช่น การทานหวานจัด เค็มจัด ทำให้เกิดโรคอ้วนจนความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ไตอ่อนแอ ไตเสื่อม ไตทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

สัญญาณโรคไตและภาวะไตอ่อนแอ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อาจไม่แน่ใจว่าลูกเข้าข่ายภาวะไตอ่อนแอหรือมีโอกาสเป็นโรคนี้หรือไม่ ลองเช็กลิสต์อาการเหล่านี้ หากมีอาการดังกล่าวแนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษา การได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วมีโอกาสหายและได้ผลลัพธ์ที่ดี ลดการเกิดภาวะไตเรื้อรัง

  • เด็กร่างกายซีด เหนื่อยง่าย ตัวเล็ก เด็กบางคนมีอาการบวมที่ขา หนังตา หรือทั่วตัว
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะมีสีออกแดง ๆ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย

5 วิธีห่างไกลจากโรคไตและภาวะไตอ่อนแอ

  1. คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการลูกเสมอ หากพบความผิดปกติเข้าข่ายโรคไตหรือภาวะไตอ่อนแอควรรีบพาพบแพทย์
  2. ให้ลูกขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ ดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว ไม่กลั้นปัสสาวะ เป็นต้น
  3. ดูแลเรื่องอาหารการกิน เช่น ลดการกินของมัน ไม่ควรบริโภคอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นรสเผ็ด รสเค็ม รสหวาน ดูแลไม่ให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน เพราะความอ้วนทำให้ความดันโลหิตสูงจนนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมหรือไตอ่อนแอได้ง่าย
  4. ออกกำลังกายเสมอเพื่อลดปริมาณไขมันในร่างกาย
  5. หากลูกไม่สบาย ไม่ควรซื้อยาทานเอง ควรทานยาตามแพทย์สั่ง เพราะหากทานยาซ้ำซ้อนหรือปริมาณไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อไต

จะเห็นว่าโรคไตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ทารกในครรภ์และเด็กเล็ก ซึ่งภาวะไตอ่อนแอสามารถป้องกันได้ หากพบว่าลูกรักเป็นโรคไตควรรีบเข้ารับการรักษา เพราะโรคไตบางประเภทรักษาหายขาดได้ ยิ่งหากรับการรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายขาดจะมีมากขึ้นเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาลูกน้อยมีโอกาสเกิดภาวะไตเรื้อรังจนอาจถึงขั้นไตเสื่อม ทำให้ไตทำงานได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เด็กบางคนโชคร้ายเกิดภาวะไตวาย ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายโรคไตควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที