นับตั้งแต่คุณแม่คลอดลูกน้อยจนถึงระยะเวลา 6 เดือน “นมแม่” ถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะอัด
แน่นด้วยสารอาหารมากประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ สร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยในการเจริญเติบโต แต่เมื่ออายุมากกว่า 6 เดือน ลูกรักจำเป็นต้องได้รับสารอาหารชนิดอื่นมากขึ้น เช่น โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ฯลฯ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรงและให้พลังงานแก่ลูกรัก
เด็กอายุกี่เดือนจึงสามารถทานอาหารได้
เมื่อลูกน้อยทานนมแม่ได้สักระยะเชื่อว่าคุณแม่หลายคนมักมีคำถามว่าแล้วเมื่อไหร่ลูกน้อยสามารถทานอาหารได้ โดยปกติแล้วลูกจะเริ่มทานอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่เมื่ออายุครบ 6 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกปรับตัวได้แล้ว อีกทั้งเป็นช่วงที่เริ่มเคี้ยวได้ กลืนอาหารอ่อนได้ และรับรสชาติได้ ซึ่งคุณแม่มีวิธีสังเกตว่าลูกน้อยพร้อมแล้วหรือไม่กับการทานอาหารโดยสังเกตจากพฤติกรรมเพิ่มเติม ดังนี้
- ลูกน้อยสามารถชันคอได้
- สามารถนั่งบนรถทานอาหารสำหรับเด็กได้
- มีพฤติกรรมสะท้อนว่าพร้อมทานอาหาร เช่น อ้าปากรับเมื่อยื่นอาหารเข้าใกล้ปาก
- เริ่มหยิบจับอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง
เทคนิคให้อาหารทารก
- เริ่มต้นด้วยการให้ทานอาหารง่าย ๆ เช่น ข้าวบดเปล่า ๆ หรือข้าวบดผสมนมแม่ เพราะเป็นเมนูคลาสสิก อีกทั้งลูกน้อยยังคุ้นเคยกับกลิ่นนมแม่อยู่ก่อนแล้ว แนะนำให้ปริมาณน้อย ๆ ควบคู่กับการให้นมแม่ไปก่อน
- การนำอาหารผสมกับข้าวบด แนะนำให้เริ่มต้นผสมทีละอย่าง เพื่อสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ และลูกมีอาการแพ้อาหารชนิดใดหรือไม่
- การทานอาหารมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน เด็กบางคนคายทิ้งตั้งแต่ครั้งแรก แต่เด็กบางคนสามารถทานได้ตั้งแต่ครั้งแรก ซึ่งคุณแม่ต้องใจเย็นและค่อย ๆ ให้เด็กเรียนรู้รสชาติอาหารแต่ละชนิด
- เปลี่ยนอาหารให้ลูกรักเสมอ เพื่อให้เด็กไม่เบื่อและยังทำให้ได้รับสารอาหารหลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น วันนี้ป้อนข้าวบดกับไข่แดง ส่วนวันพรุ่งนี้ป้อนข้าวบดฟักทองหรือไข่ตุ๋น เป็นต้น
- นอกจากอาหารต้องบดละเอียดแล้ว คุณแม่อย่าลืมใส่ใจเรื่องวัตถุดิบที่ต้องสดใหม่ ไม่ควรซื้ออาหารกระป๋องให้เด็กทาน ให้เด็กทานอาหารปรุงสุกเสมอ และไม่ควรปรุงรส ควรให้เด็กสัมผัสรสชาติธรรมชาติจะดีที่สุด
- ระหว่างป้อนอาหารควรให้ลูกน้อยมีสมาธิกับการทานอาหาร ไม่ควรให้ดูโทรศัพท์มือถือ ไม่นำของเล่นมาวางใกล้ ๆ นอกจากทำให้ลูกน้อยสนใจอาหารมากขึ้นแล้วยังฝึกสมาธิได้อีกด้วย
- เมื่อลูกเบื่ออาหารหรือไม่อยากทาน คุณแม่ไม่ควรบังคับแต่ให้หาจังหวะป้อนอาหารเมื่อลูกอ้าปาก หรือทานเป็นตัวอย่างให้ลูกดู แต่หากลูกรักยังไม่ทานควรให้ทานนมแม่แทนแล้วจึงค่อยป้อนอาหารในมื้อถัดไป
- คุณแม่ที่ทำงานประจำอย่าลืมเผื่อเวลาให้อาหารลูกน้อย เพราะการเปลี่ยนอาหารใหม่ช่วงแรกอาจใช้เวลานานกว่าปกติ
นอกจากการให้อาหารลูกน้อยในช่วงวัยที่เหมาะสมและการให้อาหารอย่างถูกวิธีตามเทคนิคที่หยิบมาฝากกันแล้ว คุณแม่อย่าลืมพิจารณาเรื่องสารอาหาร เพราะลูกน้อยวัยนี้ต้องการสารอาหารครบถ้วน ช่วยในการเจริญเติบโตและเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ สารอาหารสำคัญสำหรับวัยนี้ คือ ธาตุเหล็กช่วยพัฒนาด้านสมอง เสริมภูมิคุ้มกัน ดีเอชเอช่วยบำรุงเซลล์สมองและประสาทตา วิตามินซีช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน วิตามินเอช่วยเรื่องระบบประสาทและดวงตา รวมถึงจุลินทรีย์ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย เมื่อลูกน้อยได้รับสารอาหารครบเชื่อว่าลูกรักจะมีพัฒนาการที่ดีและแข็งแรงในอนาคต