คุณประโยชน์รอบด้านของมะละกอ จะดิบหรือสุก ดีต่อร่างกายเหมือนกัน

ประโยชน์ของ มะละกอดิบ และ มะละกอสุก ?

มะละกอเป็นทั้งผลไม้และวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแกงส้มมะละกอใส่กุ้ง หรือส้มตำแซ่บ ๆ สักจาน ล้วนให้

รสชาติที่คุ้นลิ้นและถูกปาก ซึ่งมะละกอไม่ได้มีดีเพียงเป็นอาหารที่ให้รสชาติอร่อยเท่านั้น แต่ผลมะละกอยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งช่วยบำรุงร่างกายและมีฤทธิ์ทางยา ไม่ว่าจะเป็นมะละกอดิบหรือสุก ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด อยากทราบไหมว่าภายใต้ความอร่อยนี้ จะมีคุณค่าทางสารอาหารอะไรบ้างที่ร่างกายเราจะได้รับ ไปติดตามอ่านพร้อมกันเลย

มะละกอ

มะละกอของดีที่เป็นมากกว่าผลไม้ ช่วยบำรุงร่างกาย และฟื้นฟูการทำงานของลำไส้

ผลของมะละกอมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคชั้นดี โดยในมะละกอ 1 ผลจะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต, น้ำตาล, ไฟเบอร์, ไขมัน, โปรตีน, วิตามิน A, C, K, E, B1-9, เบต้าแคโรทีน, ลูทีน, แคลเซียม, เหล็ก, แมกนีเซียม, แมงกานีส, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, โซเดียม, สังกะสี และไลโคปีน ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายดังต่อไปนี้

  1. ผลของมะละกอดิบ

มีฤทธิ์เป็นยาทางสมุนไพร ช่วยขับลม ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ อีกทั้งตามตำราแพทย์แผนไทยยังแนะนำให้ฝานเนื้อมะละกอเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปต้มให้เดือดและตักแต่น้ำมารับประทาน จะเป็นยาช่วยล้างผนังลำไส้ให้สะอาด เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่ผัดด้วยน้ำมัน นอกจากนี้ยังสามารถนำเนื้อมะละกอไปหมักกับเนื้อสัตว์เพื่อให้เนื้อนุ่มได้ด้วย เนื่องจากเอนไซม์ที่ชื่อว่าปาเปน (Papain) มีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ซึ่งในวงการผงหมักแปรรูปจะใช้ผงมะละกอผสมลงไปด้วยเช่นกัน

  1. ผลของมะละกอสุก

ช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณให้สดใส ช่วยชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอย อีกทั้งยังเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ด้วยฤทธิ์ทางยาที่เป็นเหมือนยาระบายอ่อน ๆ จึงช่วยแก้อาการท้องผูก ทำให้ลำไส้สะอาด สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงได้ดี อีกทั้งลำไส้ที่สะอาดยังช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง นอกจากนี้การรับประทานมะละกอสุกเป็นอาหารว่างประจำวัน จะช่วยให้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุดเสียดหายไป เพราะในมะละกอมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารได้ดี และสำหรับคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร การรับประทานมะละกอจะช่วยเพิ่มน้ำนมให้มีปริมาณมากขึ้นด้วย

มะละกอ

มะละกอนั้นนอกจากรับประทานสดเพื่อเป็นของว่างที่มีประโยชน์แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นได้ เช่น การทำมะละกอแช่อิ่ม, แยม, มะละกอสามรส และผงหมักมะละกอ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิดควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรับประทานมะละกอได้หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัย และไม่ลดประสิทธิภาพของยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ และสำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงปกติดี ควรรับประทานมะละกอให้ได้เป็นประจำในปริมาณประมาณ 100 กรัมต่อวัน จะช่วยบำรุงร่างกายให้มีความแข็งแรง