โรคลมหลับ ?

โรคลมหลับ

การนอนเป็นเรื่องสำคัญ คนที่นอนหลับง่ายและเต็มอิ่มนั้นเป็นคนที่น่าอิจฉา เพราะสุขภาพที่ได้จากการนอนหลับอย่างมีคุณภาพก็จะดีตามไปด้วย

ขณะที่ยังมีอีกหลายคนที่มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่เพียงเท่านั้น อาการต่าง ๆ ของการนอนหลับที่ผิดปกติยังต่อเนื่องไปถึงการเป็นโรคที่เกี่ยวกับการนอนอีกด้วย โรคชนิดหนึ่งที่เป็นแล้วส่งผลถึงคุณภาพชีวิตก็คือ โรคลมหลับ หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน มาดูกันว่าโรคนี้มีรายละเอียดอย่างไร

หากคุณเคยเห็นคนที่ง่วงนอนตอนกลางวันตลอดเวลา ตอนแรกอาจสงสัยว่าเขาผู้นั้นนอนไม่พอ แต่เมื่อพบว่าอาการง่วงนอนของเขาดูจะไม่เหมือนคนอดนอนธรรมดาคือ ง่วงนอนมากแม้แต่ในเวลาที่นั่งพูดคุยกันอยู่ดี ๆ ก็สามารถหลับได้ในลักษณะของการวูบหลับเอาดื้อ ๆ นั่นคืออาการของโรคลมหลับ ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่ได้มีการตรวจเช็กร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็พบว่าสารเคมีชนิดหนึ่งชื่อว่าไฮโปเครติน (Hypocretin) ในสมองของผู้ป่วยมีปริมาณต่ำ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ ดังนั้นจึงอาจจะมีความเป็นไปได้ว่านี่คือสาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคลมหลับ

  • อาการทางอารมณ์ของคนเป็นโรคลมหลับ

ในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมหลับ บางคนอาจมีอาการมากกว่าความง่วงนอนอย่างผิดปกติ คือมีความแปรปรวนทางอารมณ์เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นผลมาจากปริมาณสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลนั่นเอง บางคนเครียดจัดและมีอาการซึมเศร้า หากเป็นมาก ๆ อาจนำไปสู่อาการทางประสาท เช่น ประสาทหลอน นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ของโรคลมหลับที่พบมากก็คือ

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน อยู่ ๆ ก็รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง คอตก 
  • ขณะหลับกลางวันอาจเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ พูดไม่ออก ลืมตาไม่ขึ้นทั้ง ๆ ที่พยายามจะตื่น ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า ผีอำ 
  • ปวดศีรษะ 
  • โรคลมหลับ กับการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ปกติ

การเป็นโรคลมหลับ สร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ต้องทำงานประจำจะถูกเพ่งเล็งจากหัวหน้างานเพราะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในแต่ละวัน และลองนึกภาพดูว่าหากคนเป็นโรคลมหลับต้องขับรถอยู่บนถนนหนทางและรู้สึกง่วงนอนกะทันหันขึ้นมา อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องรับการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในการดำเนินชีวิตและอันตรายที่อาจจะเกิดกับผู้ป่วย

  • โรคลมหลับ รักษายากแต่ควบคุมได้

ที่ผ่านมา คนที่เป็นโรคลมหลับยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ทำได้เพียงการยับยั้งความรุนแรงของอาการเพื่อให้ไปทำงานได้ หรือทำภารกิจปกติทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ ผู้ป่วยบางคนใช้การควบคุมอาการด้วยยาตามแพทย์สั่ง เป็นยาประเภทกระตุ้นประสาท และยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขณะที่บางคนไม่ใช้ยาแต่ใช้วิธีการปรับตัวและหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่ออันตราย 

  • การปรับตัวเพื่ออยู่กับโรคลมหลับให้ปลอดภัย

สำหรับผู้ที่เป็นโรคลมหลับ หากไม่รุนแรงถึงขั้นต้องใช้ยา สามารถปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตนเองเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • ปรับวงจรการหลับ นอนให้เป็นเวลา
  • ลดการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
  • ออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร
  • ไม่ทำกิจกรรมที่เสี่ยง เช่น ขับรถ ปีนป่ายที่สูง เป็นต้น

การนั่งฟังเพลง ดูรายการทีวีที่เบาสมอง หรือทำสมาธิก่อนนอนจะช่วยผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ การได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นนอน สามารถช่วยลดอาการของโรคลมหลับให้น้อยลงได้