วิธีแก้อาการลมพิษเบื้องต้น ?

วิธีแก้อาการลมพิษเบื้องต้น ?

ลมพิษคืออะไร

ลมพิษเป็นหนึ่งในอาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้ มีลักษณะเป็นผื่น หรือปื้นนูนแดง กระจายไปทั่วร่างกาย มีอาการคันตรงบริเวณที่เกิดอาการ

โดยมากอาการมักจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ลมพิษมีกี่ประเภท

อาการลมพิษนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1. ลมพิษเฉียบพลัน

ลมพิษประเภทนี้จะเกิดต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการแพ้บางสิ่งบางอย่างที่ร่างกายต่อต้าน เช่น อาหาร , ยา , พิษจากแมลง เป็นต้น

2. ลมพิษเรื้อรัง

เป็นลักษณะลมพิษที่เป็นๆหายๆต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ เป็นลมพิษที่หาสาเหตุได้ยาก ต่างจากลมพิษแบบเฉียบพลันที่สามารถระบุตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ลมพิษเรื้อรังอาจจะเกิดจากระบบภายในร่างกายเอง เช่น ภูมิแพ้ตัวเอง ไทรอยด์ ติดเชื้อในร่างกาย เป็นต้น

อาการของลมพิษ

อาการของลมพิษนั้น โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นนูนสีแดงอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย มีอาการคันประกอบกับการเกิดผื่นแดง และมักจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง บางรายที่เป็นลมพิษจากอาการแพ้อย่างรุนแรงจะส่งผลต่อระบบหายใจ จะมีอาการหายใจติดขัด ไอ มีผลกับระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หากลมพิษนั้นมีอาการรุนแรงจะส่งผลให้ความดันตกและอาจเกิดอาการช็อคได้ มีอันตรายถึงชีวิตหากไปพบแพทย์ไม่ทัน

สาเหตุของการเกิดลมพิษ

  1. แพ้อาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่ว นม อาหารทะเล อาหารที่มีสารกันบูด เป็นต้น
  2. แพ้อากาศ แสงแดด ความหนาวเย็น ฝุ่นละออง เป็นต้น
  3. แพ้สารเคมี ยา พิษของแมลง
  4. การติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ของผู้ป่วยเอง
  5. เป็นโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์
  6. ภูมิแพ้ตัวเอง ที่ร่างกายจะหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาทำให้เกิดอาการลมพิษได้

วิธีแก้ลมพิษเบื้องต้น

หากเกิดอาการลมพิษให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้

1. ไม่เกาบริเวณผื่นลมพิษ

การเกาหรือแกะผื่นลมพิษ จะทำให้อาการลุกลามมากขึ้น และทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบได้

2. บรรเทาอารคันด้วยคาลาไมน์

ลมพิษนั้นจะทำให้เกิดอาการคัน การใช้คาลาไมน์ (Calamine Lotion) ทาบริเวณที่มีอาการ จะช่วยลดอาการคันเบื้องต้นได้ คาลาไมน์นั้นแม้ไม่ได้ช่วยรักษาลมพิษให้หายได้ แต่ช่วยลดอาการคันได้ 

3. ทานยาแก้แพ้ 

ยาแก้แพ้นั้นมีด้วยกันหลายชนิด โดยต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ เพราะการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยยาแก้แพ้ที่นิยมใช้รักษาในเบื้องต้นก็อย่างเช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ที่หาซื้อได้ง่าย ผลข้างเคียงต่ำ , ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) หรือไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เป็นต้น โดยให้กินเมื่อเริ่มมีอาการลมพิษ และกินซ้ำในทุก 4-8 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะบรรเทา โดยยาแก้แพ้จะทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงไม่ควรทำกิจกรรมที่อันตราย เช่น ขับรถ ทำงานบนที่สูง งานที่ใช้อุปกรณ์อันตราย อย่างเครื่องบดอาหาร เครื่องผสมปูน เป็นต้น

4. สังเกตอาการ

หากลมพิษที่เกิดนั้นสามารถหายไปเองได้ด้วยวิธีแก้ลมพิษเบื้องต้น ก็สบายใจได้ แต่หากอาการไม่หายและมีอาการหายใจติดขัด ไอ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับรักษา

อาการลมพิษโดยทั่วไปนั้น แม้ว่าจะสามารถหายไปได้เอง แต่หากเกิดอาการลมพิษเป็นประจำ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้เพื่อที่จะได้ลดโอกาสในการเกิดลมพิษได้