โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมีวิธีการรักษาที่ถูกต้องหรือไม่

โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมีวิธีการรักษาที่ถูกต้องหรือไม่

โรคเอดส์” และ “HIV” ภัยร้ายที่คุกคามผู้คนไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 493,859 คน

เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 16 คนต่อวัน และเสียชีวิตเฉลี่ย 31 คนต่อวัน (ข้อมูลจากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค เมื่อเดือนเมษายน 2564) 

โรคเอดส์ และ HIV คืออะไร

HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อเอชไอวีมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน ระยะสงบทางคลินิก และระยะสุดท้าย ซึ่งก็คือโรคเอดส์ หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome (AIDS) นั่นเอง

โรคเอดส์เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ระยะสุดท้ายซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในระยะนี้จะเสื่อมเต็มที่ เม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดเชื้อโรคได้จึงเป็นโอกาสให้เชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว รวมทั้งเชื้อวัณโรค เข้ามาก่อปัญหาในร่างกาย เรียกรวมว่าโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดเชื้อที่รักษายาก ติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ และเสียชีวิตในที่สุด

จากการติดเชื้อ HIV สู่การเป็นโรคเอดส์จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกาย อายุ กรรมพันธุ์ ภาวะทุพโภชนาการ และการรักษาหลังจากได้รับเชื้อ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อ HIV อาจจะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์แบบเต็มขั้นก็ได้หากดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที    

โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้โรคเอดส์หรือการติดเชื้อ HIV จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่ก็ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้ออยู่มาก โดยเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ผ่านเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำเหลือง แต่จะพบเชื้อได้น้อยในน้ำลาย เสมหะ น้ำนม และแทบจะไม่พบเชื้อเลยในอุจจาระ ปัสสาวะ รวมถึงเหงื่อ แน่นอนว่าการจับมือ กอด จูบ จาม ใช้ภาชนะหรือห้องน้ำร่วมกันไม่ทำให้ติดเชื้อ HIV นอกจากนี้การเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือการรับโลหิตบริจาคเพื่อใช้ในการรักษามีโอกาสติดเชื้อน้อยมากเนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อ HIV ในโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกถุงเพื่อความปลอดภัยของคนไข้

โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้จากการรับเชื้อซึ่งมีหลายช่องทาง ได้แก่

  • มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์รูปแบบใดก็ตาม
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยเฉพาะผู้ที่เสพสารเสพติดด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือด 
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์  
  • สัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV ผ่านแผลเปิดหรือแผลถลอก รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกันโดยไม่ได้ทำสะอาดอย่างเพียงพอ เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เข็มเจาะหู เข็มสักผิวหนัง 

วิธีการรักษาโรคเอดส์ หรือ HIV ที่ถูกต้อง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีเพียงแต่กลุ่มยารักษาที่ได้รับการรับรองกว่า 25 ชนิด ซึ่งเรียกว่ายาต้านรีโทรไวรัส หรือ Antiretroviral drugs (ARV) ทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ HIV เป็นการควบคุมไม่ให้ไวรัสชนิดนี้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวขึ้นทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อ HIV ทุกคนรับยา ARV เพื่อการรักษาและตรวจหาปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือ CD4 ทุก 3 – 6 เดือน

นอกจากนี้ยาในกลุ่ม ARV ยังใช้เพื่อป้องกันการติดชื้อ HIV ก่อนสัมผัสโรคหรือก่อนได้รับเชื้อ เรียกว่า Pre-exposure prophylaxis หรือ PrEP สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และหากสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อ HIV ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือภายใน 3 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับยา ARV มาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินหลังสัมผัสโรค เรียกว่า Post-exposure prophylaxis หรือ PEP

หากสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อ HIV หรือไม่ ควรไปตรวจเลือดหรือทำ HIV Test เพื่อความมั่นใจ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว และมีให้บริการฟรีในสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยหากได้รับเชื้อจริงจะได้ดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ก่อนจะสายเกินไป