โรคเอดส์” และ “HIV” ภัยร้ายที่คุกคามผู้คนไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 493,859 คน
เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 16 คนต่อวัน และเสียชีวิตเฉลี่ย 31 คนต่อวัน (ข้อมูลจากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค เมื่อเดือนเมษายน 2564)
โรคเอดส์ และ HIV คืออะไร
HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อเอชไอวีมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน ระยะสงบทางคลินิก และระยะสุดท้าย ซึ่งก็คือโรคเอดส์ หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome (AIDS) นั่นเอง
โรคเอดส์เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ระยะสุดท้ายซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในระยะนี้จะเสื่อมเต็มที่ เม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดเชื้อโรคได้จึงเป็นโอกาสให้เชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว รวมทั้งเชื้อวัณโรค เข้ามาก่อปัญหาในร่างกาย เรียกรวมว่าโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดเชื้อที่รักษายาก ติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ และเสียชีวิตในที่สุด
จากการติดเชื้อ HIV สู่การเป็นโรคเอดส์จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกาย อายุ กรรมพันธุ์ ภาวะทุพโภชนาการ และการรักษาหลังจากได้รับเชื้อ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อ HIV อาจจะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์แบบเต็มขั้นก็ได้หากดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที
โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้อย่างไร
แม้โรคเอดส์หรือการติดเชื้อ HIV จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่ก็ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้ออยู่มาก โดยเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ผ่านเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำเหลือง แต่จะพบเชื้อได้น้อยในน้ำลาย เสมหะ น้ำนม และแทบจะไม่พบเชื้อเลยในอุจจาระ ปัสสาวะ รวมถึงเหงื่อ แน่นอนว่าการจับมือ กอด จูบ จาม ใช้ภาชนะหรือห้องน้ำร่วมกันไม่ทำให้ติดเชื้อ HIV นอกจากนี้การเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือการรับโลหิตบริจาคเพื่อใช้ในการรักษามีโอกาสติดเชื้อน้อยมากเนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อ HIV ในโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกถุงเพื่อความปลอดภัยของคนไข้
โรคเอดส์ หรือ HIV เกิดขึ้นได้จากการรับเชื้อซึ่งมีหลายช่องทาง ได้แก่
วิธีการรักษาโรคเอดส์ หรือ HIV ที่ถูกต้อง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีเพียงแต่กลุ่มยารักษาที่ได้รับการรับรองกว่า 25 ชนิด ซึ่งเรียกว่ายาต้านรีโทรไวรัส หรือ Antiretroviral drugs (ARV) ทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ HIV เป็นการควบคุมไม่ให้ไวรัสชนิดนี้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวขึ้นทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อ HIV ทุกคนรับยา ARV เพื่อการรักษาและตรวจหาปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือ CD4 ทุก 3 – 6 เดือน
นอกจากนี้ยาในกลุ่ม ARV ยังใช้เพื่อป้องกันการติดชื้อ HIV ก่อนสัมผัสโรคหรือก่อนได้รับเชื้อ เรียกว่า Pre-exposure prophylaxis หรือ PrEP สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และหากสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อ HIV ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือภายใน 3 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับยา ARV มาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินหลังสัมผัสโรค เรียกว่า Post-exposure prophylaxis หรือ PEP
หากสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อ HIV หรือไม่ ควรไปตรวจเลือดหรือทำ HIV Test เพื่อความมั่นใจ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว และมีให้บริการฟรีในสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยหากได้รับเชื้อจริงจะได้ดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ก่อนจะสายเกินไป