ปัจจุบันรายงานข่าวการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงกระจายไปทั่วโลกสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งการแพร่ระบาดพบมากในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส สหรัฐ และแคนาดา แม้จะยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่ต้องเฝ้าระวังและทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยจะได้รีบรักษาและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่อไปยังผู้อื่น
ทำความรู้จักกับโรค “ฝีดาษลิง” หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลออโธพอกซ์ (Orthopox Virus) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิเษที่เกิดขึ้นในคน มี อาการเริ่มแรกคล้ายอีสุกอีใส หัด และโรคฝีดาษ ผู้ป่วยจะมีไข้ ผื่นตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า อัตราการเสียชีวิตสูงสุด 10% เท่านั้น
โรคฝีดาษลิงพบการระบาดครั้งแรกในประเทศคองโกทางด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา พบการติดเชื้อของลิงในห้องแล็ปและแพร่กระจายเชื้อในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย ต่อมาเกิดการติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดการแพร่ระบาดทั่วไปจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา
การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
-ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งและตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ
-ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน
-กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อซึ่งปรุงไม่สุก
การติดเชื้อจากคนสู่คน
-สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่งจากผิวหนังที่เป็นตุ่ม
-สัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน
-ติดต่อผ่านละอองฝอยจากการหายใจ
-มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์
จะเห็นว่าโรคฝีดาษลิงแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายเนื่องจากอาการคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองป่วยจึงเกิดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยต่อไปยังผู้อื่น ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ หากผู้ติดเชื้อเป็นเด็กอาจมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ได้รับ และอัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อโรค
โรคฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ดังนี้
-สายพันธุ์แอฟริกากลาง (Congo Basin) มีความรุนแรงมาก พบอัตราการเสียชีวิต 10%
-สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (West African) มีความรุนแรงน้อยกว่า พบอัตราการเสียชีวิต 1% เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้
การรักษาโรคฝีดาษลิง
อาการระยะแรกคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากนั้น 2-3 วันเริ่มมีผื่นก่อนและกลายเป็นตุ่มหนองขึ้นที่ใบหน้า แขนขาและลำตัว ถ้ายังไม่มีผื่นจะทำการวินิจฉัยได้ยาก แพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ยาบรรเทาอาการและควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน ปัจจุบันยังไม่มียามาตรฐานสำหรับโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ หากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงจะหายป่วยได้เอง อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำประมาณ 1%-10% เท่านั้น แนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยบางรายเป็นการใช้ยาต้านไวรัส 3 กลุ่ม ได้แก่ Brincidofovir, Cidofovir และ Tecovirimat ซึ่งเป็นตัวยาใช้รักษาฝีดาษที่ส่งผลข้างเคียงต่อตับเล็กน้อย แต่อาจมีความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง
วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษที่เคยใช้เมื่อหลายสิบปีก่อนฉีดป้องกันฝีดาษลิงได้ราว 85% แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการฉีดวัคซีนให้คนที่เกิดหลังปี 2523 ส่วนวัคซีนที่เคยฉีดป้องกันไข้ทรพิษในอดีตไม่มีข้อมูลว่ายังมีระดับภูมิต้านทานเพียงพอหรือไม่ ประชาชนไทยจึงต้องเฝ้าระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคผ่านผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่สุก ไม่สัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคฝีดาษลิง เพื่อป้องกันการระบาดและควบคุมการแพร่กระจายของโรค