โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มากับหน้าฝน

โรคติดเซื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มากับหน้าฝน

ความชุ่มฉ่ำของสายฝนมักจะมาพร้อมกับความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดีจึงมีโอกาสเจ็บไข้ไม่สบายสูง

โดยเฉพาะ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยโดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ อันได้แก่ จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง หลอดลม และปอด ความรุนแรงของโรคมีหลายระดับตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก 

5 โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มาพร้อมกับฤดูฝน   

  1. ไข้หวัด (Common Cold)

เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปีและพบมากในฤดูฝน ทั้งยังพบได้กับคนทุกช่วงวัย แต่สามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วันด้วยความรุนแรงของโรคมีไม่มาก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ทำให้มีอาการเป็นไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอ จาม เจ็บคอ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยน้ำมูกจะข้น มีสีเหลืองหรือเขียว และมีเสมหะเขียว

  1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

เกิดจากเชื้อ Influenza Virus หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ สายพันธุ์บี และสายพันธุ์ซี ซึ่งมีอัตราการระบาดและความรุนแรงของโรคลดหลั่นลงมาตามลำดับ ไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าเนื่องจากยังมีภูมิต้านทานต่ำ ส่วนผู้สูงวัยหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะมีไข้ขึ้นสูง ไอ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีน้ำมูก และเกิดปอดอักเสบได้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งให้ผลดีทั้งในการป้องกัน กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรค

  1. โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) 

ปอดอักเสบหรือปอดบวมมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณปอดหรือทางเดินหายใจส่วนล่างก่อให้เกิดการอักเสบ บวม มีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอด ส่งผลให้ปอดมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนอากาศ ทำให้ผู้ป่วยเป็นไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจเร็ว และหอบเหนื่อยมากขึ้น อาจถึงแก่ชีวิตได้หากมีอาการรุนแรง โดยส่วนใหญ่ปอดบวมเกิดขึ้นจากเชื้อนิวโมคอคคัส และมักจะเป็นอาการต่อเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แม้ว่าปอดอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยแต่ความรุนแรงของโรคมักจะปรากฏได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis)

ในร่างกายคนเรามีหลอดลมขนาดใหญ่และแตกแขนงเป็นขนาดเล็กย่อยอีกมากมายเมื่อเกิดการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียจะทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการระคายเคือง บวม อักเสบ  อากาศไหลผ่านได้ไม่ดี ส่งผลให้หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะ และมีอาการอื่น ๆ ที่คล้ายกับหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล กรณีที่มีอาการรุนแรงจะมีเสียงลมหายใจดังวี้ด 

  1. คออักเสบ (Acute Pharyngitis)

พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ทำให้เยื่อบุภายในคออักเสบส่งผลให้มีอาการกลืนแล้วเจ็บคอ แสบคอ ไอ ปวดศีรษะ ความรุนแรงของโรคมีไม่มากจึงสามารถหายได้เอง หากติดเชื้อจากแบคทีเรียอาการจะหายได้ช้ากว่าติดเชื้อจากไวรัส

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมักจะมีการติดต่อและแพร่ระบาดเหมือน ๆ กัน ได้แก่ 

  • สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย 
  • หายใจรับเอาละอองฝอยของเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม หรือหายใจรดกัน 
  • สัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ทั้งของใช้ส่วนตัวและสิ่งของสาธารณะ เช่น ภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่ม ของเล่น การใช้ห้องน้ำสาธารณะ การจับราวบันใด เป็นต้น 

การฉีดวัคซีนเป็นวิธีการป้องกันและลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ ทั้งยังต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ป่วย งดไปในที่ชุมชนหากมีอาการไข้ ไอ จาม หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม