สังเกตไหมว่าคุณมีความเครียดหรือวิตกกังวลกับแทบทุกเรื่องราวในชีวิตจนเกินเหตุ เกิดเป็นโรคเรื้อรังทาง
จิตเวชที่ต้องได้รับการดูแลรักษา ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
อาการของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย รู้สึกว่าควบคุมตัวเองได้ยากจนกลายเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการในระยะยาวนานกว่า 6 เดือน ลักษณะอาการโดยทั่วไป มีดังนี้
– กระสับกระส่าย ตื่นตระหนก หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และควบคุมอารมณ์ได้ยาก
– ประหม่า เขินอาย ใจลอย ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ
– เครียดจนเกิดอาการกล้ามเนื้อตึง โดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง
– มีอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
– คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ความดันขึ้น
– ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็นหรือชา
เช็กสัญญาณเตือนโรควิตกกังวล
สัญญาณเตือนโรควิตกกังวลแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1.สัญญาณเตือนด้านอารมณ์และจิตใจ รู้สึกหวาดกลัว กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ เครียดบ่อย สับสน คิดแต่เรื่องร้าย ๆ กังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด เห็นอะไรเป็นลางร้ายไปหมด
2.สัญญาณเตือนด้านร่างกาย หัวใจเต้นเร็วและแรง หายใจเร็ว เหงื่อออกมากผิดปกติโดยเฉพาะที่ฝ่ามือ มือสั่น มือเย็น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกร็ง กระเพาะอาหารปั่นป่วน ปวดท้องหรือปวดศีรษะเป็นประจำ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ
สาเหตุของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก มักเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้
-พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน
-สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล
เช็กโรควิตกกังวลมีกี่ประเภท?
โรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้
1.โรควิตกกังวลทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งกรรมพันธุ์และสารเคมีในสมองไม่สมดุล สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และความเครียด สัญญาณเตือนคือผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวลเกินเหตุไปหมดทุกเรื่อง มักระแวงว่าจะเกิดอันตรายตลอดเวลา เกิดความอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า
2.โรคแพนิค เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวรุนแรงได้ตลอดเวลา สัญญาณเตือนคือใจเต้นเร็ว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
3.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง หรืออาการโฟเบีย สัญญาณเตือนคืออาการกลัวบางสิ่งหรือกิจกรรมบางอย่าง ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น และวูบเหมือนจะเป็นลม ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลัก ดังนี้
-โรคกลัวเฉพาะอย่าง ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติเมื่อพบกับสิ่งที่กลัว เช่น กลัวเลือด กลัวงู กลัวของมีคม กลัวความสูง กลัวความมืด สัญญาณเตือนคือกล้ามเนื้อตึง ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่ทัน มือสั่น ปากสั่น บางกรณีอาจรู้สึกวิงเวียนและหมดสติได้
-โรคกลัวที่ชุมชน เกิดความวิตกหรือตื่นตระหนกเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด คับแคบ หรือมีคนจำนวนมาก เช่น ลิฟท์ ห้องที่ไม่มีหน้าต่าง การขึ้นเครื่องบิน สัญญาณเตือนของโรคคืออาการตื่นตระหนก หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย
-โรคกลัวการเข้าสังคม เกิดความวิตกกังวลเมื่อถูกจ้องมองหรือพบปะกับผู้คนที่ไม่คุ้นเคย สัญญาณเตือนคืออาการหน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
หากเห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้แล้วยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง โรควิตกกังวลจะมีอาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโรค ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการบำบัดเยียวยาสภาพจิตใจ ไม่ให้กระทบกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต