อาหารอันตราย โซเดียมสูง ?

อาหารอันตราย โซเดียมสูง

ปัจจุบันกระแสการดูแลสุขภาพกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก ทำให้คนเริ่มหันมาดูแลเรื่องอาหารการกิน อาหารที่ดี

ต่อสุขภาพกันมากขึ้น และมีสิ่งหนึ่งที่คนรักสุขภาพหลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารสุขภาพนั้นก็คือ อาหารที่มีโซเดียมสูง อันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงเหล่านี้ปะปนอยู่ในอาหารที่เราทานกันเป็นประจำแบบที่เราไม่เคยรู้เลยว่า อาหารที่เราทานเหล่านั้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายหลาย ๆ โรค เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง

โซเดียมคืออะไร สำคัญกับร่างกายอย่างไร

โซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นควบคุมน้ำในร่างกาย ช่วยรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในลำไส้เล็ก รักษาสภาพความเป็นกรดด่างของร่างกาย ปริมาณเหมาะสมที่ร่างกายต้องการโซเดียมอยู่ที่ 2,300 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของร่างกาย กิจกรรมที่ทำและช่วงอายุด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป

  • ร่างกายจะบวม เพราะโซเดียมดึงน้ำออกมารอบ ๆ เซลล์ โดยเฉพาะ ใบหน้า มือ ขา และเท้า
  • โซเดียมสูงจะทำให้เลือดข้น มีผลทำให้ดึงน้ำออกมาจากเซลล์สู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดความดันเลือดสูง
  • ทำให้ใจเต้นแรง หัวใจทำงานหนัก เสี่ยงให้เกิดหัวใจล้มเหลว
  • ไตทำงานหนัก เพราะต้องกรองโซเดียมที่เกินออก เสี่ยงให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และเกิดภาวะไตวายได้ในอนาคต
  • เป็นโรคอ้วน เพราะกระตุ้นทำให้อยากอาหารมากขึ้น 
  • กระดูกเปราะ อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต

อาหารที่มีโซเดียมสูง

  • เครื่องปรุง นอกจากเกลือกับน้ำปลาแล้ว ยังมีเครื่องปรุงอื่น ๆ อีกเช่น น้ำมันหอย เต้าเจี้ยว ผงปรุงรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด ซุปก้อน กะปิ น้ำปลาร้า เป็นต้น
  • อาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง หมูยอ ไส้กรอก เบคอน แฮม ชีส
  • อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป แต่ละชนิดให้โซเดียมสูงถึง 1,100-1,500 มิลลิกรัม
  • ขนมกรุบกรอบ เช่น ขนมขบเคี้ยวยอดฮิตอย่าง มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นต้น
  • อาหารตากแห้ง เช่น หมูหรือเนื้อแดดเดียว อาหารทะเลตากแห้ง กุ้งแห้ง เป็นต้น
  • อาหารหมักดอง เช่น กิมจิ แตงกวาดอง แหนม ไข่เค็ม ผักดอง เป็นต้น ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า โซเดียมช่วยให้อาหารมีอายุในการเก็บยาวนานมากขึ้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าอาหารเหล่านี้จะมีโซเดียมสูง
  • อาหารที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมปัง เบเกอรี่ ซึ่งผงฟูมีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งถือเป็นโซเดียมประเภทหนึ่ง
  • น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปพร้อมดื่ม เป็นสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง นอกจากจะมีน้ำตาลสูงแล้ว ยังมีโซเดียมมากอีกด้วย
  • ชีส มีทั้งโซเดียมที่เกิดขึ้นจากการหมักโดยธรรมชาติ และชีสแปรรูปก็มีส่วนผสมของโซเดียมฟอสเฟตนอกจากช่วยเรื่องรสชาติแล้ว ยังช่วยให้ชีสมีอายุการเก็บที่ยาวนานขึ้นอีกด้วย
  • น้ำจิ้มต่าง ๆ เป็นเมนูที่มีโซเดียมแฝงอยู่ไม่น้อยเลย

อาหารเหล่านี้แม้ว่าจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ใช่ว่าจะทานไม่ได้เสียทีเดียว ทุกอย่างล้วนต้องอยู่ในความสมดุล หากจะทานอาหารเหล่านี้ บางประเภท หากนำมาล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงอาหารก็จะช่วยลดปริมาณโซเดียมได้บางส่วน บางอย่างไม่สามารถทำได้เราก็จำกัดปริมาณการทาน เช่น ขนมขบเคี้ยว ควรอ่านข้อมูลฉลากข้างซองเพื่อไม่ให้เรากินมากเกินไปจนร่างกายรับโซเดียมเกินความต้องการ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยเจือจางปริมาณโซเดียมในร่างกาย และไม่ทำให้ไตทำงานหนักเกินไป