อาการของโรคกรดไหลย้อน

อาการของโรคกรดไหลย้อน

หากพูดถึงโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD) หรือภาวะการไหลย้อนของน้ำย่อยหรือแก๊สจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้น

มายังหลอดอาหาร เชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่ามีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที รับประทานอาหารที่มีไขมัน อาหารรสเปรี้ยว การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  หรือการรับประทานยาบางชนิด แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคกรดไหลย้อนยังเกิดได้จากความปิดปกติของหลอดอาหาร ติดเชื้อแบคทีเรีย ความเครียด ความอ้วน การตั้งครรภ์ และพันธุกรรม แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตามสิ่งสำคัญคือต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เพราะนอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษายังเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบเรื้อรังและมะเร็งหลอดอาหารด้วย ดังนั้นเพื่อช่วยให้ทุกคนสังเกตโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เรามี 10 อาการเด่น ๆ ของโรคนี้มาฝาก 

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก และลำคอ โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นชัดเจนหลังรับประทานอาหาร เวลานอนหงาย ยกของหนัก หรือเอนโน้มตัวไปด้านหน้า
  • เวลาเรอมีกลิ่นเปรี้ยวหรือมีน้ำรสเปรี้ยวรสขมไหลย้อนกลับขึ้นมาจากหลอดอาหารเข้ามาในช่องปาก ซึ่งถ้ามีอาการนี้บ่อยอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบและปัญหากลืนอาหารลำบากตามมา
  • มีอาการขย้อนน้ำและอาหารออกจากหลอดอาหาร ซึ่งในกรณีที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนขั้นรุนแรง ทำให้เกิดการสำลักและปอดอักเสบร่วมด้วย ส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารและนำไปสู่ปัญหาหลอดลมอักเสบ
  • มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกหรือรู้สึกเหมือนมีก้อนของแข็งอยู่ภายในลำคอตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้สึกรำคาญใจแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่ากลืนน้ำกลืนอาหารลำบากมากขึ้นด้วย
  • มีอาการท้องอืดหรือแน่นท้องมากผิดปกติหลังรับประทานอาหาร
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากรับประทานอาหาร
  • เนื่องจากโรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารโดยตรงจึงทำให้มีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย
  • ในกรณีที่อาหารไหลเข้าไปยังหลอดลมจะทำให้มีอาการเจ็บคอ ไอแห้ง ไอเรื้อรัง เสียงแหบ อาการหอบ และปัญหาไซนัสอักเสบ 
  • ในน้ำและอาหารไหลย้อนจากหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยติดมาด้วย ซึ่งน้ำย่อยจะทำลายสารเคลือบฟัน ทำให้ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนมีอาการฟันผุและกลิ่นปาก
  • ถ้ามีปัญหาอาเจียนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงและมีปัญหาโลหิตจาง ในกรณีผู้ป่วยเป็นเด็กอาจทำให้เจริญเติบโตไม่สมวัย 

จะเห็นได้ว่าอาการของโรคกรดไหลย้อนนั้นมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะโรคกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจร่างกายทั่วไปอย่างละเอียด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องมีการส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด มันจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม นอกจากนั้นควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยไม่ควรนอนราบหลังรับประทานอาหารทันที แต่ให้เว้นห่างอย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนัก  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน เพื่อลดความดันภายในกระเพาะอาหาร เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ปลอดภัยจากโรคกรดไหลย้อนแล้ว