จากการศึกษาพบว่า ภาวะโลหิตจาง นับเป็นโรคเลือดที่คนไทยตรวจพบและเป็นมากที่สุดโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะร่างกายขาดธาตุเหล็ก แต่โดยหลักการแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักได้แก่
- ขาดธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการรับอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กน้อย, ขาดวิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิก จึงทำให้ไขกระดูกซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดงผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง
- เม็ดเลือดแดงไม่แข็งแรงหรือถูกทำลายง่ายกว่าปกติ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคจะมีเม็ดเลือดที่ไม่แข็งแรง เปราะบางและถูกทำลายได้ง่าย อาการที่พบส่วนใหญ่จะเหนื่อยง่าย เหลืองและซีดลง บางครั้งอาจพบภาวะตับ ม้าม โตผิดปกติร่วมด้วย
อาการและความเสี่ยงของ ภาวะเลือดจาง
- ผู้ป่วยจะเริ่มเบื่ออาหาร
- มีอาการเพลียและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ตัวเหลือง ซีด
- มึนงง วิงเวียนศีรษะบ่อย เพราะเลือดที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- หากมีอาการรุนแรงอาจหัวใจวายเฉียบพลันได้
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง
- กลุ่ม สตรีที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สาเหตุเกิดจากการมีภาวะประจำเดือน ทำให้ต้องสูญเสียเลือดระหว่างเป็นประจำเดือนมาก ร่างกายขาดธาตุเหล็ก อาจมีภาวะเลือดจางได้
- กลุ่ม สตรีตั้งครรภ์ ในภาวะการตั้งครรภ์ของผู้หญิงจะทำให้มีปริมาณน้ำเหลืองต่อเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ได้
- กลุ่ม ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น มะเร็ง, ไตวาย เพราะทั้ง 2 โรคนี้ส่งผลต่อการผลิตเม็ดแดงของไขกระดูก ทำให้ผลิตได้น้อยลง
- กลุ่ม ผู้สูงอายุ สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป เสี่ยงจากการเป็นโลหิตจางเพราะไขกระดูกเริ่มฟ่อ เนื่องจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ไขกระดูกสร้างเลือดได้น้อยลง
แนวทางป้องกันและการรักษา
สำหรับโรคเลือดจางจะไม่แสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน หากไม่ได้รับการตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพประจำปี หากตรวจพบว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือกำลังเริ่มเป็นโรคโลหิตจางให้รีบพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษาหรือการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรค
- การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กหรือวิตามิน เพราะบางคนเพียงแค่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินให้เพียงพอต่อระดับที่ร่างกายต้องการก็พอสำหรับการดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้น
- การเปลี่ยนถ่ายเลือด หากพบว่าอาการของโรคมีความรุนแรงในระดับที่ฮีโมโกบินต่ำกว่า 8 กรัม/เดซิลิตร แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการเปลี่ยนถ่ายเลือด
- การเข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือไขกระดูก เป็นอีกแนวทางหนึ่งหากพบว่าเซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ แพทย์จะทำการนำเซลล์ดังกล่าวไปทดแทนเซลล์ที่ผิดปกติให้สามารถสร้างเม็ดเลือดให้กลับมาได้
อาการแทรกซ้อนและความเสี่ยงหากไม่ได้รับการรักษา
- เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง
- การทำงานของหัวใจผิดปกติ นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลทำให้มีภาวะคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้ลูกที่คลอดเป็นเลือดจางได้
สำหรับใครที่กังวลว่าตนเองจะเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจเช็คจากโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อความสบายใจและหาแนวทางในการแก้ไขและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ในอนาคต