พฤติกรรมการติดเกม ผลกระทบ และการป้องกันทำอย่างไร

พฤติกรรมการติดเกม ผลกระทบและการป้องกันอย่างไร

ปัญหาการติดเกมนั้น แท้จริงแล้วมีมานาน แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า สมาร์ทโฟนสามารถเล่นเกมได้อย่างหลากหลาย การเข้าถึง

อินเตอร์เน็ตทำได้ง่าย ทำให้ปัญหาการติดเกมเด่นชัดขึ้นมาและขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่เฉพาะวัยเด็กเท่านั้นที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมติดเกมมากขึ้น ยังรวมถึงคนทุกช่วงวัย อะไรคือสาเหตุของการติดเกม และมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร

สาเหตุของการติดเกม

สาเหตุของการติดเกมนั้นมีได้หลายเหตุ แต่โดยหลักๆที่พบได้มากแยกได้ดังนี้

1. การขาดความเอาใจใส่จากผู้ปกครองในวัยเด็ก เนื่องจากคิดว่าเมื่อบุตรหลานอยู่กับโทรศัพท์แล้วไม่งอแง จึงปล่อยปละละเลยเพราะเห็นว่าช่วยผ่อนแรงในการดูแล ทำให้เด็กมีพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือ ติดเกมมากกว่าที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่น

2. มีภาวะสมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหาการเรียนรู้ (LD) โรคซึมเศร้า จึงมักใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์มือถือมากกว่า เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด

3. ได้แรงเสริมจากการเล่นเกม เช่น เมื่อเล่นเกมชนะก็จะได้รับการยอมรับจากชุมชนเกมออนไลน์ที่เข้าร่วม ทำให้รู้สึกมีตัวตน ภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงง่าย ทำให้เกิดการติดเกมได้ง่ายขึ้น

4. ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เช่น ครอบครัวไม่มีเวลาดูแล หรือเป็นคนที่มีบุคลิกเก็บตัว หากคนในครอบครัวไม่สร้างความสัมพันธ์ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสติดเกมมากขึ้น

ผลกระทบของการติดเกม

1. ผลกระทบด้านสุขภาพ

การเล่นเกมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทางร่างกาย เช่น อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ มีปัญหาทางสายตา สมองเกิดความอ่อนล้า และยังส่งผลต่อระบบภายในร่างกายที่มีอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

2. ผลกระทบด้านพัฒนาการทางสมอง

พฤติกรรมติดเกมจะส่งผลให้การเรียนแย่ลง เพราะไม่มีเวลาเอาใจใส่ด้านการเรียนได้มากเท่าที่ควรสมองขาดพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามช่วงวัย ขาดทักษะในการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการศึกษา

3. ผลกระทบด้านพฤติกรรม

การติดเกมจะส่งผลต่อพฤติกรรมในหลายๆ ด้าน เช่น กลายเป็นคนเก็บตัว มีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวกับผู้อื่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ทำให้ขาดทักษะในการเข้าสังคม พฤติกรรมอาจร้ายแรงไปจนถึงการลักขโมยเพื่อหาเงินไปเล่นเกม ซื้อไอเทมในเกม การก่ออาชญากรรมจากการเสพติดความรุนแรงได้ในอนาคต

การป้องกันพฤติกรรมติดเกม

1. แบ่งเวลาให้เหมาะสม

การแบ่งเวลาในการเล่นเกมให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันพฤติกรรมติดเกมได้ โดยการสร้างวินัยในการใช้ชีวิตว่าช่วงเวลาใดของวันควรทำกิจกรรมหรือทำหน้าที่ใด และควรทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ เมื่อต้องการผ่อนคลายก็สามารถแบ่งเวลามาเล่นเกมได้ แต่ต้องกำหนดเวลาในการเล่น รวมถึงไม่ให้กระทบต่อการทำกิจกรรมอื่น ในช่วงเริ่มต้นอาจจะยาก แต่หากค่อยๆ ฝึกฝนตัวเองก็จะทำให้มีวินัยมากขึ้น ควบคุมพฤติการเล่นเกมได้ดีขึ้น

2. หากิจกรรมอื่นทำบ้าง

การหากิจกรรมที่สนใจ หรืองานอดิเรกอย่างอื่นนอกเหนือจากการเล่นเกม ก็เป็นวิธีการลดอาการติดเกมลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งกิจกรรมมีให้เลือกมากมาย เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การเล่นดนตรี การดูหนัง หรือกิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้ไม่หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมมากเกินไป จะทำให้ชีวิตเกิดความสมดุล

3. ไม่จริงจังกับการเล่นเกมมากเกินไป

ควรเล่มเกมเพื่อเป็นการผ่อนคลายมากกว่าที่จะเล่นเพื่อแข่งขันอย่างจริงจัง เพราะจะทำให้เกิดความเครียด หากเราไม่ใช่นักแข่งเกมที่ต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง ก็ควรเล่นพอประมาณเพื่อความสนุก

การเล่นเกมนั้นก็มีข้อดีในตัวเอง เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยี ฝึกไหวพริบ แต่การเล่นเกมมากเกินพอดีจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นการตระหนักถึงผลกระทบของการติดเกม จะช่วยให้ป้องกันตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมดังกล่าวได้ เพื่อให้เกมกลายเป็นเพียงกิจกรรมยามว่างที่สนุกสนานก็เพียงพอ