ระบบย่อยอาหาร ถือว่ามีความสำคัญกับการทำงานของร่างกายมาก เพราะทุกครั้งที่เรากินอาหารเข้าไป ระบบนี้
จะค่อย ๆ ดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ส่งไปเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นนอกจากกินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การทำความเข้าใจอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารก็มีความสำคัญ
อวัยวะที่ทำหน้าที่หลักในระบบนี้คือกระเพาะอาหาร ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยย่อยคือเอนไซม์และกรดในกระเพาะ ความผิดปกติของกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อยคือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (ที่คนทั่วไปเรียกว่าโรคกระเพาะ) และโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสามารถป้องกันได้ … แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร? คุณสงสัยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราจะไปหาคำตอบพร้อมกันในวันนี้
กรดในกระเพาะ (Stomach acid) เป็นกรดที่เซลล์ในกระเพาะสร้างขึ้นเพื่อให้สภาพความเป็นกรดอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยกรดที่สร้างขึ้นมีหน้าที่ช่วยย่อยโปรตีนเพื่อทำให้โปรตีนถูกดูดซึมได้ดีในลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังช่วยในการดูดซึมวิตามิน เกลือแร่ และธาตุอาหารต่าง ๆ รวมถึงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อช่วยลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร
คงเห็นแล้วว่ากรดในกระเพาะมีความสำคัญมากกับการย่อยอาหาร ซึ่งภาวะไม่มีกรดในกระเพาะจะเรียกว่า Hypochlorhydria เป็นได้ตั้งแต่ภาวะพร่องกรดคือการที่เซลล์ผลิตกรดในกระเพาะออกมาได้น้อยเกินไป จนถึงขั้นที่เกิดภาวะไม่มีกรดในกระเพาะ สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ตามอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการกินยาลดกรดต่อเนื่องนานเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดกับผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วย (เช่นผู้ที่รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัด)
สำหรับอาการของภาวะนี้ จะคล้ายกับโรคแผลในกระเพาะรวมถึงโรคกรดไหลย้อน โดยจะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการก็ได้ จากอาการที่คล้ายกัน ทำให้เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น หลายคนจึงคิดว่าเป็นแค่โรคกระเพาะธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะกินยาลดกรดเพราะคิดว่ากระเพาะมีกรดเกิน เราขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ดีกว่า
• ถ้ามีกรดในกระเพาะมากเกินไป จะมีอาการอย่างไร?
การมีกรดในกระเพาะน้อยเกินไปจัดว่าไม่ดี แต่การมีมากเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน ซึ่งเมื่อกินอาหารแล้วพบว่ามีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือมีอาการคลื่นไส้ ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีกรดในกระเพาะมากเกินไป แต่ภาวะการมีกรดเกินที่ไม่อันตรายจะเกิดขึ้นแบบเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ภาวะเรื้อรัง และภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เช่นหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป ไม่กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป รวมถึงควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน เพราะผู้ที่น้ำหนักมากจะมีแนวโน้มเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
การดูแลร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล คือสิ่งที่ทุกคนควรทำ ซึ่งร่างกายจะสมดุลได้ก็ต่อเมื่อทุกระบบทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบย่อยอาหารด้วย หากสังเกตอาการของตัวเองอย่างดี (เช่นสังเกตเมื่อเกิดอาการผิดปกติหลังกินอาหาร) รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตโดยลดสิ่งที่ไม่ดีกับระบบย่อยอาหาร เพียงเท่านี้คุณก็สามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะพร่องกรด ภาวะไม่มีกรดในกระเพาะ รวมถึงภาวะกรดเกินในกระเพาะไปได้มาก