ตุ่มแดงที่สุดแสนจะคันและให้ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็น “งูสวัด” นั้น เป็นโรคที่หลายคนเคยผ่านประสบการณ์มา
แล้วโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่พักผ่อนน้อย ภูมิต้านทานต่ำ อ่อนเพลีย หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน
รู้จักสาเหตุของงูสวัดและการติดต่อของโรค
งูสวัด เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า “ วาริเซลลา” ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับการเกิดโรค “อีสุกอีใส” โดยติดต่อผ่านทางการหายใจและการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสโดยตรง ซึ่งเมื่อเป็นอีสุกอีใสจนหายดีแล้ว เชื้อไวรัสตัวนี้จะยังคงแฝงอยู่ในร่างกาย หลบอยู่ตามปมประสาทต่าง ๆ โดยไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา
กระทั่ง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ อาทิ อ่อนเพลียหรืออดนอน เชื้อไวรัสตัวนี้ก็จะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและตุ่มคันบนผิวหนัง หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ลักษณะของตุ่มจะเป็นน้ำใส ๆ เรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาว ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด โดยทั่วไปตุ่มคันจะหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์
แต่กระนั้นก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการอักเสบติดเชื้อที่ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง และอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังจากเป็นงูสวัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดค้างนานเป็นเดือนเป็นปี หรือบางรายอาจปวดตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่มีผลกับคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก
ความแตกต่างระหว่างงูสวัดกับอีสุกอีใส
เนื่องจาก 2 โรคนี้เกิดจากไวรัสตัวเดียวกันและอาการมีความใกล้เคียงกันมาก ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตความแตกต่างของลักษณะอาการเพื่อแยกโรคในเบื้องต้นก่อน ซึ่งจุดแตกต่างนั้นก็คือ กรณีอีสุกอีใส จะเป็นตุ่มแดงอักเสบแล้วเห่อขึ้นทั่วทั้งร่างกาย แต่กรณีงูสวัดนั้นจะเป็นตุ่มหรือผื่น ขึ้นเฉพาะตามปมประสาท ที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่ โดยขึ้นเป็นแนวตามเส้นประสาท ไม่กระจายตัวไปทั่ว โดยตุ่มจากงูสวัด จะมีลักษณะนูน ใส ก่อนจะแตกและตกสะเก็ด มักขึ้นบริเวณเอว, ลำตัว, หลัง, ใบหน้าและดวงตา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นบริเวณดวงตานั้นถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งและต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
เมื่อเป็นงูสวัด ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
สำหรับผู้ที่มีอาการงูสวัด ในรายที่ภูมิคุ้มกันปกติ สามารถใช้วิธีการรักษาตามอาการได้เช่น ทานยาแก้ปวด แต่หากเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้สูงอายุ ก็ควรได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะทำให้รอยของโรคหายได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้น้ำเกลือประคบครั้งละ 10 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น หากมีอาการปากเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก นอกจากนี้ควรจะตัดเล็บให้สั้น และเลี่ยงการแกะเกาบริเวณที่คัน รวมทั้งต้องอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด และไม่พ่นหรือทายา สมุนไพรหรือยาพื้นบ้าน บริเวณที่มีตุ่มน้ำ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย, แผลหายช้า รวมทั้งกลายเป็นแผลเป็นได้ด้วย
การป้องกันการแพร่เชื้องูสวัด หลักการสำคัญคือการแยกข้าวของเครื่องใช้ของผู้ที่เป็นงูสวัดจากผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เพื่อเลี่ยงไม่ให้ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส สัมผัสกับตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัด เป็นอีสุกอีใสได้ และควรแยกผู้ป่วยงูสวัดออกจากเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ด้วย